เผ่าขมุ และ เขมร สืบเชื้อสาย มาจากบรรพบุรุษสายเดียวกัน จึงมีรูปร่างหน้าตาใกล้เคียงกัน เทียบจากระบบภาษา ทั้งขมุและเขมรจัดอยู่ในกลุ่ม Austroasiatic … ภาษาตระกูล มอญ – เขมร เหมือนกัน บ้างว่าขมุ คือเขมรที่ไม่รับวัฒนธรรมอินเดีย เลยล้าหลังกว่าเขมร จึงโดนดูถูก บ้างว่าคือพวก ข่า(หมุ) ที่ลาวจับมาเป็นทาส ภายหลังรับวัฒนธรรมลาว
คนล้านนา จะรู้จัก ขมุ เมื่อร้อยปีก่อนว่า เป็นคนงานตัดไม้ ข้ามโขงจากลาว มาทำงานตัดไม้ เลี้ยงช้างขนลากไม้ ใน ภาคเหนือ ขมุ เชี่ยวชาญการเลี้ยงช้าง ดังนั้นเจ้านายหรือปางไม้ พนักงานเลี้ยง ดูแล ควาญช้างเป็นขมุแทบทั้งนั้น ปัจจุบันบางกลุ่มมาตั้งครอบครัวในไทย
ขมุ มีถิ่นอาศัยอยู่ในตอนเหนือของประเทศลาว สองฝั่งแม่น้ำทา แม่น้ำแบ่ง แม่น้ำอู แม่น้ำเสือง ในแขวงหัวของ แขวงนครหลวงพระบาง และกระจัดกระจายอยู่ในแขวงไชยะบุรี (บุญช่วย 2506, น.199)
ขมุเริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย ทางด้านที่ติดกับพรมแดนลาว อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย อำเภอทุ่งช้าง อำเภอปัว จังหวัดน่าน ชาวเหนือนิยมใช้พวกขมุ เป็นคนงานในไร่ยาสูบ ทำสวน ขุดดิน ตัดต้นไม้ แบกหาม ในโรงเลื่อย หรือโรงงานบ่มใบยาสูบ เป็นต้น ขมุบางคนหากินด้วยการเป็น “นายฮ้อย” เที่ยว ไปตามหมู่บ้าน ในเมืองหลวงน้ำทา เมืองไซเอาเงินเป็นค่ามัดจำตัวเอง ไว้กับบิดา มารดา (บุญช่วย 2506, น.201-202) ปัจจุบันพบขมุใน 5 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง อุทัยธานี และน่าน
ร้อยกว่าปีก่อน หมอแมคกิลวารีเล่าว่า พวกขมุ คือพวกหนึ่งซึ่งไปตั้งรกรากบนสองฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณอาณาเขตเดิมของเมืองหลวงพระบาง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง บนฝั่งขวาก็มีอยู่บ้างแต่เป็นส่วนน้อย
คนงานขมุ เป็นชนชาติที่มีความชำนาญ และเป็นที่ต้องการในงานตัดไม้ พวกฝรั่งเศส จ้างแต่พวกขมุในการสร้างถนนสายต่างๆ พวกนี้ส่วนมากจะอยู่บนภูเขา จะลงมาสู่พื้นราบแต่เฉพาะเวลาหาเงินเท่านั้น (พวกขมุมีภาษาของตัวเอง : circa 1920 Mahouts from the Chiang Mai area of Siam.)
ฝรั่งอีกท่านบันทึกว่า พวกขมุทำงานหนัก เเต่ต้องไม่ใช้ทำงานอะไรที่ต้องใช้สติปัญญา เป็นคนตัดไม้ที่ชำนาญเเต่ไม่อาจฝึกสอนให้เป็นหัวหน้าคนงานได้ พวกขมุรับค่าจ้างเป็นรายปี เเละจะไม่ทิ้งงานนอกจากจะตกใจกลัว คนพวกนี้ขี้อาย และหากจะพูดจาด้วยก็ต้องไม่กระโชกโฮกฮาก ” (ตัดตอนมาจาก ล้านนาไทยในเเผ่นดิน พระพุทธเจ้าหลวง พิษณุ จันทร์วิทัน)
ที่ลำปาง ยุคค้าไม้นั้น การจัดหาชาวขมุ ต้องทำผ่านนายหน้าที่เรียกกันว่านายฮ้อย โดยนายฮ้อย จะส่งคนไปติดต่อชักชวน
ชายชาวขมุในสิบสองจุไท มาทำงานมีการตกลงคำจ้างกัน ด้านการกินอยู่ และ เวลาป่วยไข้ นายฮ้อย ต้องดูแล นายฮ้อย จะเป็นคนรับค่าจ้าง และ เก็บไว้ให้ สัญญาทำงานทำกัน 3-4 ปี
เมื่อหมดสัญญาขมุ จะกลับบ้านพร้อมเงินเต็มกระเป๋า อันเป็นผลมาจากการกินอยู่แบบเจียมตนของพวกเขานั่นเอง ปัจจุบันนี้ ก็ยังมีชาวขมุหลายครอบครัวที่ลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองลำปาง ไม่ได้หวนคืนกลับมาตุภูมิ (กาดกองต้าย่านเก่า เล่าเรื่อง เมืองลำปาง/กิตติศักดิ์ เฮงษฎีกุล2551)
พ่ออุ้ยแก้ว คนลำปาง เล่าเรื่อง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหญิงสาว เมื่อปี พ.ศ. 2485 ในชุมชน อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์กับคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำปางไม้ ตอนนั้นตนเองเป็นบ่าว ไม่ค่อยมีสาวอยู่บ้านให้ไปแอ่วหา เนื่องจากมีพวกขมุ มารับจ้างทำไม้อยู่ที่ห้างช้าง ปางช้างกันมาก พวกสาวๆ แถวบ้านก็ชอบไปอยู่เป็นเมียพวกขมุ เพราะ ขมุ มีเงินที่ได้จากการทำไม้อยู่มาก ขนาดที่ว่าพวกน้อยพวกหนาน ต้องแต่งค่าวซอเรียกว่า “ค่าวเตือนใจสาว” นำมาร้องบอกไม่ให้สาวๆ ไปอยู่กับ คนขมุ (ชุมชนค้าประเวณี/นิวัฒน์สุวรรณพัฒนา 2541)
ที่มา : เชียงใหม่ที่คุณไม่เคยเห็น