ประเทศไทย และ สปป. ลาว มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทุกมิติ ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา ส่งผลให้พื้นฐานความคิดใกล้เคียงกัน ซึ่งป็นปัจจัยบวกเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเกื้อกูลระหว่างกัน และสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งสองประเทศ

จากวิกฤตโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ในส่วนเศรษฐกิจประเทศไทย 70% พึ่งพาการส่งออกก็สามารถประคับประคอง และเพิ่มการส่งออกได้เรื่อยๆ โดยมีปัจจัยสำคัญคือการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ล่าสุดในปี พ.ศ. 2564 ในมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาท, 6.1 แสนล้านบาท เป็นการค้าไทย – สปป. ลาว, 2.3 แสนล้านบาท และสินค้าที่ส่งผ่านลาวไปเวียดนาม สิงคโปร์ 3 แสนกว่าล้านบาท มูลค่าเติบโตจากปีก่อนหน้า 17 – 18% โดยมี 2 ปัจจัย ตัวแปรให้ สปป. ลาว มีความสำคัญมากขึ้น คือ

1) การเป็นคู่ค้าระหว่างกัน ทั้งการค้าไทย และ สปป. ลาว และการส่งสินค้าผ่าน สปป. ลาว เข้าไปข้ามแดนยังจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ (ลาว–เวียดนาม-สิงคโปร์) ซึ่งการค้าไทยผ่าน สปป. ลาว ไปสิงคโปร์ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 1.5 หมื่นล้าน จากเดิม 2 พันกว่าล้านบาทเมื่อสองปีที่แล้ว   

2) นโยบาย สปป. ลาว เปลี่ยนประเทศ Landlock เป็น Hub การขนส่งทางบกเป็น Land Link Country โดยมีรถไฟฟ้าจากคุณหมิงมาเวียงจันทน์ข้ามมาไทย ขนสินค้ามาออกทางเรือที่แหลมฉบังไปทั่วโลก และยังขนส่งลงไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ สิ่งที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากเปลี่ยนภาพจำของ สปป. ลาว ที่มีเศรษฐกิจจำกัดเพราะไม่มีทางออกทะเลไปอย่างสิ้นเชิง เพราะหัวใจสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ คือ โลจิสติกส์ที่ดีคือมี option ให้เลือก ยิ่งเยอะยิ่งดี เมื่อมีรถไฟจากจีนวิ่งลงมา ประกอบกับขนส่งทางรถที่มีแต่เดิม ก็เป็นการเพิ่มช่องทางขนส่งมากขึ้น

การขนส่งไทย – สปป. ลาว ในปัจจุบันมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง ตรงจุดข้ามแดนที่หนองคาย มีทางรถไฟอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้เพิ่มเที่ยวรถไฟจากวันละ 4 เที่ยว (ไป 2 กลับ 2) เป็นวันละ 14 เที่ยว (ไป 7 กลับ 7) และเพิ่มโบกี้คอนเทนเนอร์ขนสินค้าด้วย เป็นการเพิ่มศักยภาพความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้ามากขึ้น สิ่งนี้คือภาพใหม่ของ สปป. ลาว ที่มีโอกาสการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น

รถไฟฟ้าจีน-ลาวเป็นเหมือนการต่อท่อจากตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกตรงมาสู่เวียงจันทน์ สามารถขนส่งสินค้าถึงคุณหมิงภายใน 10-12 ชม. และไม่หยุดอยู่เพียงเท่านั้น เพราะในจีนเองก็มีเครือข่ายรถไฟเชื่อมโยงกันทั่วประเทศแล้ว ดังนั้นเมื่อสินค้าถึงคุณหมิงก็สามารถส่งไปต่อทั่วประเทศจีนได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ทำให้จากเดิมที่นักลงทุนไม่กล้าลงทุนผลิตสินค้าส่งออกใน สปป. ลาว เพราะตลาดขนาดเล็ก และการขนส่งมีต้นทุนสูง การมีรถไฟฟ้าจีน-ลาว เข้ามาเป็นจึงเป็นเส้นทางส่งสินค้าที่ต้นทุนไม่สูง ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากร และแรงงานราคาถูกที่ สปป. ลาว มีอยู่  ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสร้างโฉมหน้าใหม่ให้ สปป. ลาว

ล่าสุด สปป. ลาว กับเวียดนามลงนามเพิ่มสิทธิ์การถือหุ้นท่าเรือน้ำลึกเมืองวินห์ 60% ให้ สปป. ลาว และปรับปรุงท่าเรือดังกล่าวเป็นทางออกทะเลของ สปป. ลาว ในส่วนไทยกับ สปป. ลาว มีพรมแดนยาว 810 กิโลเมตร มีสะพานข้ามแดน 4 แห่ง และกำลังมีแห่งที่ 5 ที่บึงกาฬ เป็นอีกจุดที่จะขนสินค้าข้ามมาขึ้นรถไฟที่เวียงจันทน์ที่อยู่ห่างขึ้นไป 160 กิโลเมตร

เปลี่ยนจาก Landlock สู่ Land Link

จากที่ไม่ค่อยมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะการขนส่งออกลำบาก นโยบายใหม่จะเปลี่ยนให้ สปป. ลาว กลายแหล่งลงทุนฐานการผลิตเพื่อส่งออก เพราะมีตลาดใหญ่อย่างจีนรองรับอยู่ จึงเป็นโอกาสของไทยจะรีบเข้าไปลงทุนตัวอย่างเช่น สินค้าอาหารทะเลที่ไทยที่มีออเดอร์จำนวนมากที่คุณหมิง จากเดิมที่ส่งทางรถบรรทุกห้องเย็น ใช้เวลา 5-6 วัน เปลี่ยนมาใช้รถไฟใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง รวมถึงส่งสัตว์ทะเลเป็น ๆ ก็ได้ อีกอย่างคือทุเรียนที่ส่งหลายแสนตันต่อปี อาจส่งเพิ่มได้เป็นล้านตัน ธุรกิจควรสำรวจว่าตลาดจีนต้องการสินค้าอะไร และหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจในลาวเพราะจะได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการลงทุนที่ สปป. ลาว

1) โลจิสติกส์ เดิมทีต้นทุนโลจิสติกส์ใน สปป. ลาวราคาสูง เพราะตลาดเล็ก คนไปลงทุนทำน้อย แต่เมื่อเป็น New Laos ที่ตลาดแข่งขันมากขึ้น โลจิสติกส์ก็จะมีหลายเจ้า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายถูกลง เช่น Flash Express ก็เข้าไปใน สปป. ลาวแล้ว และการแข่งขันส่งสินค้าแบบ Door-to-Door ก็จะขยายตัวพร้อมกับการมาของ e-Commerce ที่แพร่หลายในจีน และเติบโตขึ้นมากในวิกฤตโควิด-19 

2) สินค้าเกษตร ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของจีนแทนที่สหภาพยุโรป การที่มีรถไฟวิ่งลงถึง สปป. ลาว เป็นการเชื่อมโยงจีน-อาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญ โดยทรัพยากรที่จีนต้องการจากประเทศกลุ่มอาเซียนคืออาหาร แร่ธาตุอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทองแดง เหล็ก สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในฐานะไทยเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด สปป. ลาว ก็มีบริษัทใหญ่เข้าไปลงทุน ทั้งค้าปลีก อาหาร คอนซูเมอร์โปรดักส์ พลังงาน และธุรกิจที่น่าสนใจคือ สาธารณสุข เพราะคน สปป. ลาว และต่างชาติที่อยู่ใน สปป. ลาว นิยมมาพบแพทย์ไทย

และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา สปป. ลาว เริ่มทดลองทำ Crypto Mining เพราะมีแหล่งพลังงานไฮโดร ราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนจำนวนมาก นำไปสู่การพัฒนาสร้างรายได้ได้อีกมาก ในปีนี้ รัฐบาล สปป. ลาว ได้ให้ License 2 กลุ่มบริษัทในการเทรดสกุลเงินคริปโต รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้สกุลเงินดิจิทัลกีบที่ออกโดยธนาคารกลาง  อันจะนำไปสู่โอกาสการเชื่อมโยงเงินดิจิทัล และพัฒนา Fintech ระหว่างไทยกับ สปป. ลาว ต่อไปในอนาคต 

ที่มา: สัมมนาออนไลน์ “CLMV Focus 2022: Laos Today เส้นทางรถไฟฟ้าจีน-ลาว โอกาสการค้าไทยสู่แดนมังกร” ในวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

Share.
Exit mobile version