รถโดยสาร อุดร-เวียงจันทน์ คือบริการรถโดยสารระหว่างประเทศไทย กับ สปป. ลาว ที่วันนี้เราจะมาขอแชร์ประสบการณ์ ที่เราได้ไปใช้บริการมา โดยเราเดินทางจากนครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว เพื่อไปจังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นแนวทางให้เพื่อนๆ นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และชาวลาว ได้ใช้เป็นข้อมูลในการใช้บริการ
ต้องบอกก่อนว่า ความคิดที่จะเดินทางโดยรถโดยสาร อุดร-เวียงจันทน์นี้ ไม่เคยมีอยู่ในหัวเรามาก่อน เพราะตอนแรก ที่เดินทางเข้ามาที่ สปป. ลาว นั้น เรามาด้วยวิธีนั่งรถไฟ จากกรุงเทพฯ มาลงที่ สถานีรถไฟหนองคาย (Nong Khai Railway Station) จากนั้นเดินเท้าต่อไปที่ ด่านศุลกากรหนองคาย (Nongkhai Border Checkpoint) แล้วก็นั่งรถเมล์ข้าม สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (Thai–Lao Friendship Bridge No.1) มาลงที่ ด่านตรวจคนเข้า-ออกเมือง สากล ขัวมิตรภาพ (ດ່ານກວດຄົນເຂົ້າ-ອອກ ສາກົນ ຂົວມິດຕະພາບ) แล้วก็นั่งรถเมล์ลาว เข้าสู่ตัวเมืองเวียงจันทน์ ซึ่งต้องขึ้นลงรถหลายต่อ แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะเราก็ชอบเดินทางแบบลุยๆ อยู่แล้ว อีกอย่างคือการเดินทางเข้าลาวครั้งนี้ เป็นครั้งแรก ยังไม่มีประสบการณ์เลย ตอนก่อนจะมาก็พยายามหาข้อมูลในกูเกิ้ลหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน สรุปว่า.. ลุยไปข้างหน้าเลยละกัน
ใช้พาสปอร์ตเข้าลาว อยู่ได้ 30 วัน
การเดินทางเข้าประเทศลาว สำหรับคนไทย ไม่จำเป็นต้องขอวีซ่า สำหรับใครที่มีพาสปอร์ต ก็สามารถเข้าลาวได้เลย โดยถ้าใช้พาสปอร์ต จะสามารถอยู่ในลาวได้ 30 วัน (ครบกำหนดก็จะต้องเดินทางออกจากประเทศลาว แล้วกลับเข้าไปใหม่ คนไทยหลายคนที่มาทำธุรกิจที่นี่ เวลาใกล้ครบกำหนดวันหมดอายุ ถ้าแค่ต้องการจะต่ออายุ ก็แค่นั่งรถเมล์ข้ามด่านมา เอาพาสปอร์ตประทับตราเข้า-ออกใหม่ แค่นี้ก็อยู่ต่อได้อีก 30 วันแล้ว
เข้าเรื่องเลยละกัน คือเราก็เจอกรณีตราประทับเข้าเมืองกำลังจะหมดอายุ เพราะอยู่ที่ลาวใกล้จะครบ 30 วันอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงต้องหาวิธีกลับออกไป เพื่อกลับเข้ามาลาวใหม่ เพื่ออยู่ต่อได้อีก 30 วันจนกว่าภาระกิจของเราในครั้งนี้ จะเสร็จสิ้น ที่คิดอยู่ในหัวแว็บแรกคือ..
ฉันจะต้องนั่งรถเมล์ ไปที่ด่านลาว ประทับตราออกในพาสปอร์ต จากนั้น นั่งรถเมล์ ข้ามสะพานมิตรภาพ ออกไปประทับตราเข้าไทย แล้วก็วนกลับมาประทับตราออกไทย ที่ด่านไทย, นั่งรถเมล์ข้ามสะพานมิตรภาพ ประทับตราเข้าประเทศลาว แล้วก็นั่งรถเมล์กลับเข้าเมือง ใช่ไหม? คือมันยังคิดถึงวิธีเดินทาง แบบครั้งแรกที่เข้าประเทศลาวอยู่ไง..
เช้าวันออกเดินทาง.. ไปต่ออายุพาสปอร์ต
วันนั้นเราก็ไม่ได้รีบอะไรมาก เพราะรู้ว่าด่านเปิด 6 โมงเช้า ปิด 4 ทุ่ม มีเวลาเหลือเฟือ เลยไม่ได้รีบเร่งอะไร แต่มีความคิดเพิ่มเติมเข้ามาว่า ไหนๆ ก็จะข้ามไปไทยแล้ว ก็จะไปเดินเล่น ช็อบปิ้งฝั่งไทยสักหน่อย
เช็คข้อมูลฝั่งหนองคายแล้ว ก็ไม่มีอะไรน่าเที่ยวน่าเดินเลย เท่าที่รู้มีแต่ โลตัส ที่คนลาวชอบไปซื้อของกัน สรุปเลยตัดสินใจว่าน่าจะไปอุดรนะ เพราะอุดรเมืองใหญ่กว่า อย่างน้อยก็มีเซ็นทรัลให้เดินละน่า.. (เซ็นทรัลอุดร) สรุปว่าเป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้ คือนอกจากจะไปประทับตราต่ออายุการอยู่ในลาวต่อแล้ว ยังมีแผนที่จะไปเดิน เซ็นทรัลอุดร ต่ออีกด้วย.. และแผนการเดินทางที่คิดไว้ ก็จะมี 2 ทางเลือกคือ
แผนที่ 1 พอถึงด่านหนองคายแล้ว ก็นั่งรถตู้ไป เซ็นทรัลอุดร (ราคาเช็คล่าสุด 150 บาท ไม่รู้ว่าขึ้นราคาหรือเปล่า) ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรจากด่านหนองคาย ใช้เวลาเดินทาางประมาณ 1 ชั่วโมงเศษๆ ไปถึงก็เดินเล่น เสร็จก็เดินทางกลับด้วยรถตู้เหมือนเดิม
แผนที่ 2 ถึงด่านหนองคายแล้ว ก็นั่งตุ๊กๆ ไปลง สถานีรถไฟหนองคาย แล้วนั่งรถไฟไปลงสถานีรถไฟอุดรธานี (ประมาณ 43 กิโลเมตร) ถึงอุดร ก็เดินเท้าต่อไป เซ็นทรัลอุดร ไม่ถึง 10 นาที (ประมาณไม่เกินร้อยเมตร) เดินเล่นเสร็จก็นั่งรถไฟกลับ
แต่ข้อนี้ มีปัญหาคือ เราไม่รู้ว่ารถไฟมันวิ่งเวลาไหนบ้าง เช็คเว็บไซต์รถไฟไทยแล้วก็ยิ่งงง สรุป.. ก็คิดว่าจะไปที่สถานีแล้วตรวจสอบเวลาตรงนั้นเลย ถ้าต้องรอนาน เราก็จะเลือกไปทางที่ 1 คือไปรถตู้
การจะไป ด่านขัวมิตรภาพ จากนครหลวงเวียงจันทน์ สามารถไปได้หลายวิธิ จากนครหลวงเวียงจันทน์ ถ้านับเอา ตลาดเช้า เป็นศูนย์กลาง ระยะทางก็จะประมาณ 27 กิโลเมตร ถ้าไปรถส่วนตัวก็ใช้เวลาประมาณไม่ถึง 30 นาที
สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา ไม่มีรถส่วนตัว ก็สามารถใช้บริการรถเมล์ลาวได้ โดยจะต้องไปขึ้นรถที่ สถานีรถเมล์ นครหลวงเวียงจันทน์ ที่อยู่ด้านหลังของห้าง ตลาดเช้า
ผมเริ่มออกเดินทางจากที่พัก เวลาประมาณ 9 โมงเศษๆ ตั้งใจจะไปถึงอุดรให้ทันกินข้าวเที่ยง พอมาถึง สถานีรถเมล์เวียงจันทน์ จากความคิดเดิม ที่คิดจะนั่งรถเมล์ไปลงที่ ด่านขัวมิตรภาพ แล้วนั่งรถเมล์ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวก็เปลี่ยนไป เพราะนึกขึ้นได้ว่า มันมีรถทัวร์จากเวียงจันทน์ ไปลงที่อุดรด้วยนี่หว่า เคยได้ยินข่าวอยู่หลายครั้ง
อย่ากระนั้นเลย เพื่อความแน่ใจ พอถึง สถานีรถเมล์เวียงจันทน์ แล้ว ก็เดินสำรวจดู ก็ปรากฎว่า มันมีรถบัส ที่วิ่งจากเวียงจันทน์ ไปอุดรจริงๆ โอ้ว.. ดีใจสุดๆ เลย
เราเดินเข้าไปสอบถามที่โต๊ะ ที่มีคนนั่งอยู่ข้างๆ รถ ก็ได้รับการยืนยันว่า สามารถนั่งรถเมล์จากที่นี่ ไปอุดรได้ แต่เราต้องไปซื้อตั๋วก่อน ที่ตึกแถวด้านหน้าสถานี ที่อยู่ใกล้ๆ กัน (หมายเหตุ: จากแผนที่ในรูปด้านล่าง สำนักงานบริการขายตั๋วรถเมล์ลาว-ไทย คือหมายเลข 3)
อัตราค่ารถโดยสาร อุดร-เวียงจันทน์ (อัพเดท 4 ธ.ค. 2022)
สำหรับค่าตั๋วรถบัส ส่วนตัวคิดว่าถูกมากๆ ถ้าเทียบกับวิธีการเดินทางแบบที่ 1-2 ที่ผมวางแผนไว้ข้างต้น และเทียบกับราคาค่าเดินทางใน สปป. ลาว ที่มีราคาค่อนข้างสูงมากๆ (คนลาวที่นี่รู้ดี) ที่สำคัญคือไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องขึ้นลงรถหลายรอบ เที่ยวเดียวถึงเลย
จาก สถานีรถเมล์เวียงจันทน์ สามารถเลือกลงที่หนองคาย บริเวณหน้าด่านก็ได้ หรือจะไปลงที่อุดรเลยก็ได้ ส่วนราคาตั๋ววันธรรมดา วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็จะไม่เท่ากัน โดยค่าตั๋วในวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ จะสูงกว่าวันธรรมดานิดนึง
จุดลงรถ (Destination) | วันธรรมดา (weekdays) | เสาร์-อาทิตย์-นักขัตฤกษ์ (Weekends, Holidays) |
ลง ด่านศุลกากรหนองคาย (Nong Khai Customs House) | 55 บาท/THB | 60 บาท |
ลง สถานีขนส่งผู้โดยสารอุดรธานี (Udon Thani Bus Terminal) | 80 บาท | 85 บาท |
ตารางเที่ยวรถ (อัพเดท 4 ธ.ค. 2022)
โดยรถโดยสาร อุดร-เวียงจันทน์ จะมีเที่ยวรถออกวันละ 6 เที่ยว ทั้ง 2 ฝั่ง (ฝั่งลาว และฝั่งไทย) ในเวลาเดียวกัน ตามตารางเวลาอ้างอิงด้านล่างนี้
รถแต่ละเที่ยว จะเป็นรถบัสของไทย และของลาวสลับกัน และรถเที่ยวแรกออก 8 โมงเช้า รถรอบสุดท้ายออก 6 โมงเย็น
รอบ | สถานีรถเมล์ เวียงจันทน์ | สถานีขนส่งผู้โดยสารอุดรธานี |
1 | 8:00 (รถลาว) | 8:00 (รถไทย) |
2 | 10:00 (รถลาว) | 10:00 (รถไทย) |
3 | 12:00 (รถไทย) | 12:00 (รถลาว) |
4 | 14:00 (รถไทย) | 14:00 (รถลาว) |
5 | 15:00 (รถลาว) | 15:00 (รถไทย) |
6 | 18:00 (รถไทย) | 18:00 (รถลาว) |
ล้อหมุน.. เริ่มออกเดินทาง
เราจองตั๋วรอบเที่ยง เพราะรอบ 10 โมงรถออกไปแล้ว รถรอบเที่ยงที่ออกจากเวียงจันทน์ เป็นรถของไทย โดยรวมรถจะสภาพดีกว่า ทันสมัยกว่ารถทางฝั่งลาว รถออกตรงเวลาเป๊ะ มุ่งหน้าสู่ ด่านขัวมิตรภาพ ระหว่างเดินทางก็คิดว่า เมื่อถึงด่านลาวแล้ว จะต้องทำยังไงต่อ รถจะจอดตรงไหน แล้วต้องทำยังไง อะไรบ้าง บลาๆๆๆๆ
ลงรถ ด่านขัวมิตรภาพ ประทับตราออกจากประเทศลาว
เมื่อถึงด่านแล้ว รถโดยสารก็จอดรถอยู่หน้าด่าน ก่อนถึงทางออกไปสะพานมิตรภาพ แล้วก็ให้ผู้โดยสารทุกคนลงจากรถ เพื่อไปประทับตราออก จุดนี้ ทั้งคนลาว และคนต่างประเทศใช้ร่วมกัน ใครไปถึงก่อนก็ไปเข้าคิวก่อนได้เลย จุดนี้ไม่มีอะไรมาก แค่เอาพาสปอร์ตให้เจ้าหน้าที่ เพื่อประทับตรา ลงวันที่ เป็นอันเสร็จขั้นตอน ใช้เวลาไม่ถึงนาที (จะมีการถ่ายรูปด้วยกล้อง Web Cam ด้วยนะ)
สำหรับค่าธรรมเนียม คนลาวไม่ต้องเสีย แต่คนไทยเสีย 20 บาท (คนไทย เสียทั้งขาเข้า และขาออก ส่วนคนชาติอื่นเราไม่รู้นะว่าต้องเสียเท่าไหร่) จากนั้น ใครที่ประทับตราแล้ว ก็สามารถเดินผ่านเข้าไปด้านในได้เลย รถโดยสารที่เรานั่งมานั้น ตอนนี้ ได้แล่นไปจอดรออยู่ทางด้านในเรียบร้อยแล้ว รอผู้โดยสารครบ ก็จะมุ่งหน้าไปประเทศไทย โดย ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1
เมื่อผู้โดยสารครบแล้ว รถโดยสารก็พร้อมออกเดินทาง มุ่งหน้าไปยังฝั่งไทย โดยผ่าน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ที่มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร 1สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (อังกฤษ: First Thai–Lao Friendship Bridge; ลาว: ຂົວມິດຕະພາບ ລາວ-ໄທ ແຫ່ງທຳອິດ) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก โดยเชื่อมต่อหมู่ที่ 1 คุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.5 เมตร ทางเท้า 2 ช่องทาง กว้างช่องละ 1.5 เมตร และรถไฟทางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 และเพื่อเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน พ.ศ. 2557 อ้างอิง: Wikipedia ระยะทางจาก ด่านตรวจคนเข้า-ออกเมือง สากล ขัวมิตรภาพ จนถึงด่านฝั่งไทย ผ่าน สะพานมิตรภาพ ประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 6 นาที
ถึงด่านไทย.. ลงรถประทับตราเข้าไทย
เมื่อข้าม สะพานมิตรภาพ จากลาว มาถึงฝั่งไทยแล้ว รถโดยสารก็จะจอดตรงหน้าทางออก ด่านศุลกากรหนองคาย (Nongkhai Border Checkpoint) แล้วให้ผู้โดยสารลงจากรถ เพื่อไปประทับตราเข้าประเทศไทย
สำหรับคนไทยขั้นตอนนี้ไม่ยาก เพราะระบบเข้าเมืองที่นี่ รองรับคนไทยอยู่แล้ว มีถ่ายรูปหน้า และเพิ่มการสแกนนิ้วมือเข้ามาด้วย (ทางฝั่งลาวไม่มี)
ส่วนคนลาว หรือคนต่างชาติ จะต้องมีการกรอกข้อมูลในใบ ตม.6 (T.M.6) เพื่อยื่นให้กับเจ้าหน้าที่ตอนประทับตราเข้าเมืองด้วย ซึ่งใบ ตม.6 นี้จะมีการแจกให้กับผู้โดยสารตอนอยู่บนรถแล้ว แต่เราก็ยังสงสัยนะ ว่าทำไมเขาไม่แจกให้กับต่างชาติทุกคน เราเห็นคนลาวบางคนก็ไม่ต้องเขียนก็ได้ ตรงนี้เราว่ามันมั่วๆ อยู่ แต่ที่แน่ๆ คนไทยอย่างเรา ไม่ต้องเขียน ไปประทับตราได้เลย (หมายเหตุ : ปัจจุบัน การเข้าไทย สำหรับชาวต่างชาติ ไม่ต้องเขียนใบ ตม.6 แล้ว Update: 22 สค. 2024)
ขึ้นรถคันเดิม.. สถานีต่อไป อุดรธานี
หลังจากผู้โดยสารทยอยกันตรวจหนังสือเดินทางแล้วประทับตรากันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ทยอยกันขึ้นรถ
ถึงจุดนี้เราก็มีคำถามอีกแหละว่า ถ้าผู้โดยสารคนใดคนหนึ่งเกิดมีปัญหา ตรวจหนังสือเดินทางไม่ผ่าน ติดแบล็คลิสต์ หรือโดนกักตัว แล้วรถโดยสารจะต้องคอยไปจนถึงเมื่อไหร่ เพราะวันที่เราเดินทาง ก็เห็นผู้โดยสารหลายคนโดนกักอยู่ในห้อง แต่โชคดีไม่ใช่เป็นผู้โดยสารในรถที่เรานั่งไป ก็เลยถือว่าโชคดีไป
คนครบ.. ก็ออกเดินทางต่อได้เลย จากหน้าด่านหนองคาย ไป เซ็นทรัลอุดร ระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ใครง่วง.. ก็นอนพักได้เลย
ถึงแล้ว จุดหมายปลายทางอุดรธานี
และแล้วก็มาถึงจุดหมายปลายทางซะที รถโดยสารจะมาจอดที่ สถานีขนส่งผู้โดยสารอุดรธานี แห่งที่ 1 (Udon Thani Bus Terminal 1) เดินไม่ถึง 5 นาที ก็ถึง เซ็นทรัลอุดร แล้ว เราเห็นรถป้ายทะเบียนลาว แล่นเต็มถนนไปหมด เพราะคนลาวนิยมมาช็อบปิ้งกันที่นี่
เป็นอันเสร็จสิ้นภาระกิจการเดินทางโดยรถโดยสารจากเวียงจันทน์ มาถึงอุดรอย่างสะดวกรวดเร็ว เป็นทริปที่ประทับใจมากๆ อีกทริปนึง ต่อไปนี้ การเดินทางจากเวียงจันทน์ มาอุดรก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเราอีกต่อไปแล้ว
เก็บตก.. ขากลับเวียงจันทน์
หลังจากเดินเล่น หาของกินจนอิ่มแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางกลับเวียงจันทน์ซะที ความจริงตอนไปถึงสถานีขนส่งอุดรใหม่ๆ ก็ตั้งใจจะจองตั๋วกลับเลยทันที แต่ตอนนั้นเพิ่งจะบ่าย 2 โมง รถเที่ยวถัดไปก็ 3 โมง (15:00) กับ 6 โมง (18:00) เราจะจองตั๋วรอบ 6 โมงคนขายตั๋วก็บอกว่ายังซื้อไม่ได้ ต้องซื้อตั๋วหลัง 3 โมง (ต้องรอให้รถเที่ยวที่ 5 ออกไปก่อน) ดังนั้นเราจึงไปช็อปปิ้งก่อน พอใกล้เวลา (6 โมงเย็น) จึงค่อยมาจองตั๋ว ก็จองได้ตามปกติ และเดินทางกลับ ตามเส้นทาง และวิธีการเดิม จนถึงจุดหมายปลายทาง.. นครหลวงเวียงจันทน์ (สำนักงานบริการขายตั๋วรถเมล์ลาว-ไทย) โดยสวัสดิภาพ และสิ้นสุดการเดินทางอย่างมีความสุุข ^^
- 1สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 (อังกฤษ: First Thai–Lao Friendship Bridge; ลาว: ຂົວມິດຕະພາບ ລາວ-ໄທ ແຫ່ງທຳອິດ) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก โดยเชื่อมต่อหมู่ที่ 1 คุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.5 เมตร ทางเท้า 2 ช่องทาง กว้างช่องละ 1.5 เมตร และรถไฟทางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 และเพื่อเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน พ.ศ. 2557 อ้างอิง: Wikipedia