รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลอง "30 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์)" ที่จังหวัดหนองคายในวันนี้ (21 เม.ย.) ท่ามกลางคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยเข้าร่วมพิธี และแสดงความยินดี
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานใน พิธีเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 30 ปีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) วันนี้ (21 เม.ย.) ที่จังหวัดหนองคาย ร่วมกับนายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนางโรบิน มูดี อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และการค้า เครือรัฐออสเตรเลีย โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยเข้าร่วมพิธี
พิธีดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมต่าง ๆ ที่จังหวัดหนองคาย และนครหลวงเวียงจันทน์ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 30 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะทูตจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจามาร่วมงานด้วย เพื่อจะได้เห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของจังหวัดหนองคาย และจังหวัดใกล้เคียง
นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสในการนำเสนอศักยภาพด้านความเชื่อมโยง และการคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน และทางรางระหว่างไทยกับ สปป. ลาว รวมทั้งในระดับภูมิภาค โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นส่วนสำคัญ
ทั้งนี้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกที่เชื่อมไทยกับ สปป. ลาว เข้าด้วยกัน และเป็นช่องทางการค้าสำคัญที่สุดระหว่างสองประเทศ โดยมูลค่าการนำเข้า และส่งออกผ่านสะพานแห่งนี้คิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 33 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาว ทั้งหมด
ดังนั้น สะพานแห่งนี้จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศ พร้อมทั้งช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ทั้งในฝั่งไทย และลาว
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว 1 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่แห่งแรก โดยเชื่อมต่อหมู่ที่ 1 คุ้มจอมมณี ตำบลมีชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคายของประเทศไทย เข้ากับบ้านท่านาแล้ง เมืองหาดซายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว ตัวสะพานมีความยาว 1,170 เมตร มีทางรถ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.5 เมตร ทางเท้า 2 ช่องทาง กว้างช่องละ 1.5 เมตร และรถไฟทางเดี่ยวกว้าง 1 เมตร ตั้งอยู่กึ่งกลาง ใช้งบประมาณก่อสร้าง 30,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2534 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2537 และเพื่อเป็นการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน พ.ศ. 2557
สะพานแห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2537 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย และนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาวในช่วงเวลานั้น
สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งแรกนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และลาว และยังส่งเสริมสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสองประเทศ สะพานแห่งนี้อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าซึ่งแต่เดิมขนถ่ายกันโดยใช้แพขนานยนต์ และยังเป็นการเปิดทางออกสู่ทะเลโดยสะดวกให้กับประเทศลาว สะพานแห่งนี้ยังคงความสำคัญในด้านการค้า และยังเป็นสัญญลักษณ์แห่งเจตจำนงของออสเตรเลียในการให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
แผนก่อสร้าง "สะพานรถไฟ" ข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ปี 69
สะพานมิตรภาพแห่งนี้ ยังเป็นข้อต่อสำคัญของความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างสองประเทศ และในระดับภูมิภาค โดยเป็นสะพานมิตรภาพระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเพียงแห่งเดียวที่มีระบบการขนส่งทั้งทางถนน และทางราง และโดยที่การขนส่งโดยรถไฟจะมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ไทย และ สปป. ลาว จึงกำลังหารือกันในการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ โดยจะตั้งอยู่คู่ขนานกับสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 เพื่อรองรับอนาคตที่ปริมาณการขนส่งข้ามแดนโดยรถไฟจะเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าที่รางรถไฟที่มีอยู่แล้วบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 จะรองรับได้
คาดว่าการก่อสร้างจะเริ่มได้ในปี 2569 และแล้วเสร็จในปี 2572 ทั้งนี้ จะมีการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าแบบครบวงจรทั้งในฝั่งไทย และ สปป. ลาว โดยในฝั่งไทยจะอยู่ที่สถานีนาทา จังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าข้ามแดนทั้งทางถนน และทางรางเข้าด้วยกัน และสะพานรถไฟแห่งใหม่จะเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลไทยกำลังเร่งก่อสร้างจากกรุงเทพฯ มาถึงจังหวัดหนองคายด้วย
ภายหลังพิธี รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการเดินทางมาเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดงานในครั้งนี้ ความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-สปป. ลาว รวมถึงท่าทีไทย และการดำเนินการของไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาและสถานการณ์ในอิสราเอล-อิหร่านด้วย
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ